
โครงการป่าวังจันทร์ ตั้งอยู่ ณ ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง บนพื้นที่ 351.35 ไร่ ซึ่งในการพัฒนาโครงการได้มีการสำรวจ สภาพพื้นที่ดั้งเดิม ทั้งสภาพภูมิประเทศ สภาพดิน ปริมาณน้ำท่า แหล่งน้ำ และทิศทางการไหลของน้ำ รวมไปถึงความหลากหลายทางชีวภาพทั้งในและรอบพื้นที่โครงการ โดยการดำเนินงานศึกษา วิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาประกอบใช้ในการออกแบบการพัฒนาพื้นที่ให้สอดคล้อง และกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม โดยแบ่งพื้นที่ต่างๆ ดังนี้
1. พื้นที่ปลูกป่าทั้งหมด 219 ไร่
ป่าคาร์บอนต้นแบบ (พื้นที่ปลูกป่าเลียนแบบธรรมชาติ) จำนวน 132 ไร่ เป็นการฟื้นฟูป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์ ในลักษณะป่าดิบแล้ง (Dry Evergreen) ออกแบบเทคนิควิธีการปลูกและดูแลรักษาต้นไม้ รวมถึงศึกษาสภาพพื้นที่ตามลักษณะป่าธรรมชาติดั้งเดิม คัดเลือกชนิดพันธุ์ไม้และการดูแลรักษากล้าไม้ รวมทั้งสิ้น 64 ชนิด โดยมีการปลูกต้นไม้แบบประณีต

พื้นที่วิจัยรูปแบบการฟื้นฟูป่า จำนวน 43 ไร่ เป็นโมเดลการปลูกป่า เพื่อดำเนินการศึกษาวางแนวทางในการฟื้นฟูป่าให้เหมาะสมกับระบบนิเวศดั้งเดิมในแต่ละพื้นที่ และสอดคล้องกับมิติการดำรงอยู่ของผู้คน ซึ่งจะนำไปสู่การส่งเสริมแนวความคิดให้คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน

ฟื้นฟูป่าธรรมชาติและมหัศจรรย์พรรณไม้ จำนวน 42 ไร่ ปลูกป่าด้วยการประยุกต์ใช้แนวคิดของ ศ.ดร.อาคิระ มิยาวากิ ซึ่งมีข้อดี คือ ช่วยเร่งการฟื้นฟูป่าได้อย่างรวดเร็วโดยใช้เทคนิคเฉพาะ คือ สร้างเนินและส่วนผสมของวัสดุหน้าดินในอัตราส่วนที่พอเหมาะ รวมถึงการแบ่งพื้นที่การปลูกป่าตามความสำคัญของกลุ่มชนิดไม้ต่างๆ ทั้งในทางประวัติศาสตร์ และการใช้ประโยชน์ของมนุษย์

2. ระบบการจัดการน้ำ พื้นที่ 48 ไร่ ประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและใหญ่ ความจุรวม 143,800 ลูกบาศก์เมตร แนวร่องน้ำและไส้ไก่ ให้มีลักษณะการกระจายน้ำตามแรงโน้มถ่วงตามเส้นชั้นความสูงของพื้นที่ตามธรรมชาติจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ เพื่อกักเก็บน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก และกระจายความชุ่มชื้นสู่พื้นที่

3. อาคารและพื้นที่เอนกประสงค์ทั้งหมด จำนวน 6 ไร่ ประกอบด้วยอาคารสำนักงานที่ออกแบบภายใต้แนวคิด "บ้านต้นไม้" ในอนาคตอาคารดังกล่าวจะกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เมื่อป่ารายรอบพื้นที่อาคารเติบโต และกลุ่มอาคารเรือนเพาะชำ ซึ่งประกอบด้วยลานกองวัสดุ โรงเก็บและคัดแยกเมล็ด โรงเพาะชำกล้า เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการภายในอาคารสำนักงาน ประกอบด้วย ห้องแนะนำพื้นที่โครงการ ผ่านการรับชมภาพยนต์สั้นบอกเล่าความสำคัญที่มาที่ไปของโครงการป่าวังจันทร์ การดำเนินงานปลูกป่าเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญด้านป่าไม้

4. ถนนทางเข้าและเส้นทางศึกษาธรรมชาติ พื้นที่ 46 ไร่ ประกอบด้วยเส้นทางรถยนต์ เส้นทางจักรยาน และทางเดินเท้า เส้นทางศึกษาธรรมชาตระยะสั้น ความยาว 1 กิโลเมตร และระยะไกล 2.5 กิโลเมตร สำหรับเดินชม และเรียนรู้ป่ารูปแบบต่างๆ ในโครงการ
5. พื้นที่ป่าเดิม จำนวน 30 ไร่ ประกอบด้วย สวนยางพารา และปาล์ม
ปตท. เชื่อมั่นว่าโครงการป่าวังจันทร์แห่งนี้ จะเติบโตเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ด้วงองค์ความรู้ที่พร้อมถ่ายทอดแก่ประชาชนผู้สนใจ ควบคู่กับหน้าที่ในการฟื้นคืนระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพสู่พื้นที่วังจันทร์ ตลอดไป
